พันธุ์พืช คืออะไร
พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เหตุผลในการประกาศ ใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เป็นการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อให้มีพันธุ์พืชใหม่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม อันเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม โดยการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจด้วยการให้สิทธิและความคุ้มครองตามกฎหมาย ตลอดจนเพื่อเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และ พันธุ์พืชป่า เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแล บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์ พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน
พระราชบัญญัตินี้ “พืช” หมายความว่า สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืชและให้หมายความรวมถึง เห็ดและสาหร่าย แต่ไม่รวมถึงจุลชีพอื่น
“พันธุ์พืช” หมายความว่า กลุ่มของพืชที่มีพันธุกรรมและลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนหรือคล้ายคลึงกันมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สม่ำเสมอ คงตัว และแตกต่างจากกลุ่มอื่นในพืชชนิดเดียวกัน และให้หมายความรวมถึง ต้นพืชที่จะขยายพันธุ์ให้ได้กลุ่มของพืชที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น โดยพระราชบัญญัติแบ่งพันธุ์พืชออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- พันธุ์พืชใหม่ หมายความว่า พันธุ์พืชที่มีลักษณะ และคุณสมบัติที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในพันธุ์นั้น
- พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น หมายความว่า พันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในชุมชนใดชุมชนหนึ่งภายใน ราชอาณาจักรและไม่เคยจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้
- พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศหรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย และให้หมายความรวมถึงพันธุ์พืชที่ไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น หรือพันธุ์พืชป่า
- พันธุ์พืชป่า หมายความว่า พันธุ์พืชที่มีหรือเคยมีอยู่ในประเทศตามสภาพธรรมชาติ และยังมิได้นำมาใช้เพาะปลูกอย่างแพร่หลาย
ขอบเขตการคุ้มครอง
การคุ้มครองเชิงทรัพย์สินทางปัญญา : ระบบการรับจดทะเบียน
- พันธุ์พืชใหม่
- พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น
การคุ้มครองเชิงอนุรักษ์ : ระบบควบคุมการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ ระบบการแจ้งและขออนุญาต
- พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป
- พันธุ์พืชป่า
การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
ชนิดพืชที่จดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนคุ้มครองได้จะต้องอยู่ในรายชื่อพืชที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชประกาศกำหนดเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 92 รายการ (ณ เดือนพฤศจิกายน 2562) โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ทางเว็บไซต์ของการคุ้มครองพันธุ์พืช
- มีความใหม่ (Novelty) คือ ไม่มีการนำส่วนขยายพันธุ์มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือจำหน่ายด้วยประการใด ทั้งในหรือนอกราชเกินกว่า 1 ปีก่อนวันยื่นจดทะเบียน
- มีความแตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างชัดเจน (Distinctness)
- มีความสม่ำเสมอของลักษณะประจำพันธุ์ (Uniformity)
- มีความคงตัวของลักษณะประจำพันธุ์ (Stability)
การตั้งชื่อพันธุ์พืชใหม่
ชื่อพันธุ์พืช หมายถึง ชื่อพันธุ์ที่ขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ให้ผู้ขอตั้งชื่อเป็นภาษาไทย หากมีชื่อเป็นภาษาอื่นให้ใช้อักษรไทย และชื่อพันธุ์พืช จะต้องไม่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เป็นชื่อคล้ายพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อหรือพระนามาภิไธยย่อ หรือพระนามพระราชวงศ์
(2) ไม่สุภาพหรือขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(3) สื่อความหมายไปในทางเกินจริงหรือโอ้อวด
(4) เป็นหรือคล้ายชื่อสามัญ ชื่อชนิด หรือชื่อสกุลของพืช
(5) เป็นหรือคล้ายชื่อพันธุ์พืชอื่นในวงศ์เดียวกันที่มีอยู่ แพร่หลายทั่วไป
(6) เป็นคำสมาสหรือคำสนธิของชื่อพันธุ์ในวงศ์เดียวกัน ที่ไม่ใช่ พ่อ-แม่พันธุ์ของพันธุ์พืชนั้น
(7) มีคำนำหน้า เช่น ศาสตราจารย์ หม่อม พลเอก นาย
(8) อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิด
หมายเหตุ ไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่มีการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติ แก่บุคคล หรือเนื่องในวาระพิเศษต่าง ๆ ในกรณีดังกล่าวให้ผู้ขอพิจารณาตั้งชื่อ ได้ตามความเหมาะสม โดยให้อยู่ในความเห็นชอบของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
คุณสมบัติของผู้รับสิทธิ ต้องเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืช และคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
2. มีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้บุคคลไทย หรือนิติบุคคล ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและขอรับความคุ้มครองในประเทศนั้น
3. มีสัญขาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
4. มีภูมิลำเนา หรือประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างจริงจังในประเทศไทย หรือประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
สิทธิที่ได้รับจากการจดทะเบียนคุ้มครอง
ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่มีสิทธิแต่เพียงอย่างเดียวในการผลิต ขาย หรือจำหน่ายด้วยประการใด นำเข้า-ส่งออก หรือมีไว้เพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ หากผู้ใดกระทำการดังกล่าวข้างต้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิจะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เอกสารหลักฐานประกอบคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่
ผู้ขอจะต้องกรอกข้อความในแบบคำขอให้ครบถ้วน เป็นภาษาไทย พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของผู้ขอ หรือลงลายมือชื่อของ ผู้รับมอบอำนาจ ในการยื่นเอกสารหรือหลักฐานประกอบคำขอ หากเป็นภาษาต่างประเทศจะต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทย โดยผู้ขอและผู้แปล ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องทุกหน้า
1) คำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ (คพ.1) พร้อม
– เอกสารแนบ 1 รายชื่อนักปรับปรุงพันธุ์พืชร่วม (คพ.1/1)
– เอกสารแนบ 2 ที่มา ประวัติและกรรมวิธีปรับปรุงพันธุ์ (คพ.1/2)
– เอกสารแนบ 3 ลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชใหม่ (คพ.1/3) ตามชนิดพืช
– ข้อมูลและภาพถ่าย
2) หลักฐานแสดงสิทธิผู้ขอ
– สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัว คนต่างด้าว (ผู้ขอเป็นคนต่างด้าว)
– หนังสือรับรองสัญชาติของผู้ขอจากสถานทูต (กรณีผู้ขอเป็นคนต่างด้าว)
– สำเนาสัญญาจ้างในกรณีที่ผู้ขอเป็นลูกจ้างหรือผู้รับจ้าง
3) หนังสือมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
4) เอกสารประกอบ กรณียื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ไว้นอกราชอาณาจักร (ถ้ามี)
5) หนังสือรับรองการประเมินผลกระทบความปลอดภัย ทางชีวภาพ กรณีเป็นพันธุ์พืชที่ได้จากการตัดต่อสารพันธุกรรม (ถ้ามี)
6) ข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ กรณีเป็นพันธุ์พืชได้มาจากการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า ในการปรับปรุงพันธุ์ (ถ้ามี)
1) คำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ (คพ.1) พร้อม
– เอกสารแนบ 1 รายชื่อนักปรับปรุงพันธุ์พืชร่วม (คพ.1/1)
– เอกสารแนบ 2 ที่มา ประวัติและกรรมวิธีปรับปรุงพันธุ์ (คพ.1/2)
– เอกสารแนบ 3 ลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชใหม่ (คพ.1/3) ตามชนิดพืช
– ข้อมูลและภาพถ่าย
2) หลักฐานแสดงสิทธิผู้ขอ
– หนังสือรับรองนิติบุคคล ที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ได้รับรองไว้ไม่เกินหกเดือน
– สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจหรือใบทะเบียนพาณิชย์ แล้วแต่กรณี และสำเนาใบเสร็จรับเงินภาษีเงินได้ ย้อนหลังอย่างน้อยหนึ่งปี (กรณีผู้ขอเป็นคนต่างด้าว)
– หนังสือรับรองสัญชาติของผู้ขอจากสถานทูต (กรณีผู้ขอเป็นคนต่างด้าว)
– สำเนาสัญญาจ้าง ในกรณีที่ผู้ขอเป็นลูกจ้างหรือผู้รับจ้าง
3) หนังสือมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
4) เอกสารประกอบ กรณียื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ไว้นอกราชอาณาจักร (ถ้ามี)
5) หนังสือรับรองการประเมินผลกระทบความปลอดภัย ทางชีวภาพ กรณีเป็นพันธุ์พืชที่ได้จากการตัดต่อสารพันธุกรรม (ถ้ามี)
6) ข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ กรณีเป็นพันธุ์พืชได้มาจากการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่าในการปรับปรุงพันธุ์ (ถ้ามี)
ขั้นตอน วิธีดำเนินการ การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอแล้ว จะตรวจสอบคำขอ ในประเด็นความใหม่และตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ว่า ถูกต้อง ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยพิจารณาคำขอตามรายการต่างๆ ข้างต้น และหากปรากฏว่าการตั้งชื่อพันธุ์พืชใหม่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ พนักงานเจ้าหน้าที่จะให้ผู้ขอแก้ไขให้ถูกต้องภายในสิบวันนับแต่วันที่ ได้รับแจ้ง
เพื่อจะตรวจสอบพันธุ์พืชที่ขอจดทะเบียนว่ามีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
มีความแตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างเด่นชัด
มีความสม่ำเสมอของลักษณะประจำพันธุ์
มีความคงตัวของลักษณะประจำพัน
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบลักษณะพันธุ์พืชเป็นที่ เรียบร้อยแล้ว จะรายงานผลการปลูกตรวจสอบต่ออธิบดีเพื่อให้พิจารณา สั่งประกาศโฆษณาต่อไป
ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียน ต้องมาชำระค่าธรรมเนียมการออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน พันธุ์พืชใหม่ ฉบับละ 500 บาท ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เมื่อผู้ยื่นคำขอชำระค่าธรรมเนียมแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะจดทะเบียน และออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียม เมื่อได้จดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่แล้ว อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จะประกาศชื่อพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา
อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการคุ้มครองและการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่
- คำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ฉบับละ 100 บาท
- คำคัดค้านการขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ฉบับละ 1๐๐ บาท
- หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ฉบับละ 5๐๐ บาท
- ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ปีละ 1,๐๐๐ บาท
- คำขอจดทะเบียนการอนุญาตให้ใช้สิทธิ ฉบับละ 5๐๐ บาท ตามหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่
- คำขอจดทะเบียนการโอนสิทธิ ฉบับละ 5๐๐ บาท ตามหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่
- ใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ฉบับละ 5๐๐ บาท
ระยะเวลาในการคุ้มครอง
- 12 ปี สำหรับพืชที่ให้ผลผลิต ไม่เกิน 2 ปี เช่น มะเขือเทศ แตงกวา ดาวเรือง เป็นต้น
- 17 ปี สำหรับพืชที่ให้ผลผลิต เกินกว่า 2 ปี เช่น มะม่วง ทุเรียน เป็นต้น
- 27 ปี สำหรับพืชที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ที่ให้ผลผลิต เกินกว่า 2 ปี เช่น สัก กระถินณรงค์ เป็นต้น
พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นจะต้องเป็นพันธุ์พืชที่มีอยู่ในเฉพาะในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งภายในราชอาณาจักร และต้องมีลักษณะของพันธุ์พืชตามที่กำหนด คือ มีความสม่ำเสมอ ความคงตัว แตกต่างจากพันธุ์อื่น และไม่เคยจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่
ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นจะต้องเป็นกลุ่มบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วตั้งถิ่นฐานและสืบทอดระบบวัฒนธรรมร่วมกันโดยต่อเนื่อง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยตั้งตัวแทนยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฝนพื้นที่ของตน เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนชุมชนแล้ว และมีพันธุ์พืชตามคุณสมบัติที่เป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเมืองเฉพาะถิ่น ก็สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นต่อไปได้
พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า ได้รับความคุ้มครองโดยในฐานะทรัพยากรพันธุกรรมพืชของประเทศ กล่าวคือ ผู้เก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดเพื่อนำมาปรับปรุงพันธุ์ ศึกษาทดลอง หรือวิจัย เพื่อประโยชน์ในทางการค้า จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ โดยให้นำเงินรายได้ตามข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ส่งเข้ากองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อการอนุรักษ์พรือพัฒนาพันธุ์พืช หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงสองแสนบาท
หากกระทำทำโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าให้แจ้งต่อกรมวิชาการเกษตร เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับหนังสือแล้วหากถูกต้องครบถ้วนพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีหนังสือแจ้งรับทราบ
กองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช
พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชให้จัดตั้งกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชในกระทรวงการเกษตร และสหกรณ์ เงินและทรัพย์สินจะได้มาจากรายได้จากข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ตามมาตรา 52 เงินจากการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืช เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเงินจากที่มีผู้อุทิศให้ และดอกผลที่เกิดจากกองทุนเงินและทรัพย์สินดังกล่าว ใช้ในการช่วยเหลือเกี่ยวกับกิจการใดๆ ของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ การวิจัย และการพัฒนาพันธุ์พืช เงินและทรัพย์สินที่ได้รับตามข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ให้จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เป็นแหล่งที่นำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปมาใช้ประโยชน์