เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จัดประกวดโครงงานนักศึกษาเพื่อส่งเสริมการวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมภูมิปัญญานักเทคโนโลยีสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชนและอุตสาหกรรม ประจำปีการศึกษา 2563 ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคาร 60 พรรษา ราชสุดาสมภพ (604) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา โดยโครงการดังกล่าวจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ด้านการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้น ส่งเสริมให้นักศึกษาเติบโตสู่การเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์ที่ดี มีคุณภาพ สามารถผลิตผลงานเผยแพร่สู่สาธารณะชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น การส่งเสริมการพัฒนาการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ในแนวทางหนึ่งคือการสนับสนุนให้จัดแสดงและเผยแพร่ผลงานการประดิษฐ์คิดค้นจากโครงงานนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์ผลงานและสร้างความภาคภูมิใจหากผลงานได้รับรางวัล นอกจากนั้นนักศึกษาชั้นปีที่ ๑, ๒ และ ๓ จะได้ศึกษาและเรียนรู้การสร้างสิ่งประดิษฐ์จากผลงานที่ได้จัดแสดงเพื่อประกวดนี้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาและต่อยอดโครงงานนักศึกษาของตนได้ต่อไป โดยในปีนี้มีจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนทั้งสิ้น 19 ผลงาน โดยแบ่งเป็น ผลงานจากนักศึกษา “งานคู่เรียน จำนวน ๙ ผลงาน และผลงานของนักศึกษา “เรียนคู่งาน” ๑๐ ผลงาน อาทิ ชุดสื่อการเรียนการสอนหุ่นยนต์แขนกลแบบคาร์ทีเชียน, โปรแกรมแสดงผลและบันทึกข้อมูลค่าพลังงานไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายน้ำ, พัฒนาระบบควบคุมเครื่องพับฝาหลอดแบบอัตโนมัติ, การพัฒนาระบบควบคุมความตึงของเครื่องผลิตหลอดยาสีฟัน, เครื่องสาธิตการเชื่อมเพื่อสื่อการสอน, เครื่องเชื่อมท่อหน้าแปลนอัตโนมัติด้วยกระบวนการเชื่อม MIG/MAG, ชุดสื่อการสอนการควบคุมแขนกลนิวเมติกส์ผ่านสมาร์ทโฟน, เครื่องวิเคราะห์เสียงดังของช่วงล่างรถยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดี กล่าวว่า การประกวดโครงงานนักศึกษาเพื่อส่งเสริมการวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมภูมิปัญญานักเทคโนโลยีสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชนและอุตสาหกรรม เป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับศึกษาทุกคนเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสนำเสนอและเผยแพร่ผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของตน ซึ่งจะเป็นการฝึกฝนทักษะการนำเสนอต่อคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมงาน นักศึกษาจะได้รับข้อคิดเห็นสำหรับนำไปปรับปรุงผลงานและปรับปรุงตนเอง เพื่อเตรียมตัวที่ในการไปปฏิบัติงานที่สถานประกอบการในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของสถาบัน ฯ ที่เน้นการศึกษาในรูปแบบการบูรณาการการเรียนให้สำเร็จผลอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากผ่านการเรียนและการใช้ภูมิปัญญาของนักเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาในครั้งนี้แล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษาจะได้นำความรู้ ทักษะวิชาชีพ และประสบการณ์ที่ดีไปใช้พัฒนาศักยภาพให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัวและสังคมต่อไป
ปภาภรณ์/ข่าว