สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

อุปกรณ์ช่วยเก็บลำไยต้นแบบ

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา CDTI

          ด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่มีต่อเกษตรกรสวนลำไย โครงการสหกรณ์การเกษตรบ้านโรงวัว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำห้วยเฮี้ยงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย ที่ประสบปัญหาต้นลำไยออกผลน้อยส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาพระราชทานสูตรดินเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในการทำสวนลำไย ปรากฏว่าหลังจากที่เกษตรกรนำสูตรดินพระราชทานไปใช้ในการทำสวนลำไย ต้นลำไยออกดอกออกผลเป็นจำนวนมากซึ่งนำมาสู่ปัญหาขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ด้วยทรงต้องการให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงมีพระราชดำริแก่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาในการคิดค้นอุปกรณ์สำหรับเก็บเกี่ยวผลลำไยเพื่อมอบให้เกษตรกรนำไปใช้โดย รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ได้มอบให้ ผศ.โกศิน สวนานนท์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาและคณะเป็นผู้คิดค้นอุปกรณ์ดังกล่าว

เนื้อหาโดยสรุป / วิธีการ / ข้อค้นพบ / ผลการศึกษา

การดำเนินงานมี 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ศึกษาข้อมูลและออกแบบอุปกรณ์ช่วยผ่อนแรงในการเก็บ โดยใช้แรงงานเท่าเดิมแต่จะเก็บผลผลิตได้มากและสะดวกขึ้น ได้นำรูปแบบไปหารือกับกลุ่มเกษตรกรโดยตรงซึ่งเกษตรกรได้ให้ข้อแนะนำเพื่อปรับปรุงอุปกรณ์ช่วยเก็บลำไยให้ตรงตามความต้องการ จากนั้นนำข้อสรุปมาสร้างเครื่องต้นแบบ ต่อจากนั้นจึงนำไปทดลองใช้จริงพร้อมเก็บข้อมูลความพึงพอใจของเกษตรกร ในการดำเนินงาน ทางคณะพบว่าโครงการสหกรณ์การเกษตรบ้านโรงวัว จ.เชียงใหม่ และโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำห้วยเฮี้ยงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย มีปัญหาในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีจำนวนแรงงานไม่เพียงพอ และแรงงานบางส่วนได้ออกไปรับจ้างเก็บผลผลิตในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเช่น โครงการสหกรณ์การเกษตรบ้านโรงวัวมีเนื้อที่ในการปลูกลำไย 164 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตได้ 30-50 ตะกร้า (ตะกร้าละ 1.25 กิโลกรัม) ภายในเวลา 2 ชั่วโมงและใช้แรงงานเพียง 2 คน ส่วนโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำห้วยเฮี้ยงอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้วันละ 300 กิโลกรัม เฉลี่ยคนละ 10 กระสอบ/วัน โดยใช้บันไดพะองพาดปีนขึ้นเก็บผลผลิต ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงโดยเฉพาะกับแรงงานหญิง ทางทีมงานจึงมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จำนวนมากแต่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย ง่ายต่อการเคลื่อนที่และแรงงานทั้งชาย-หญิงสามารถเก็บผลผลิตได้

ระยะที่ 2 สร้างเครื่องต้นแบบ ทีมงานออกแบบอุปกรณ์ช่วยเก็บลำไยให้มีลักษณะเป็นรถลากเคลื่อนที่ 4 ล้อ ขนาดกลาง มีความสูง 3.3 เมตร รองรับน้ำหนักได้ 250 กิโลกรัม วัสดุทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม มีบันไดสำหรับปีนขึ้น-ลง ประกอบเข้ากับชั้นลอยที่สามารถปรับระดับความสูงได้ มีชักรอกสำหรับส่งผลผลิตมายังด้านล่าง สามารถถอดชิ้นส่วนได้และวัสดุที่เลือกใช้เป็นวัสดุที่เกษตรกรสามารถหาซื้อได้ในกรณีที่ต้องการสร้างไว้ใช้งานเอง หรือเปลี่ยนส่วนประกอบในกรณีที่ชำรุดเสียหายได้ด้วยตัวเอง โดยเครื่องต้นแบบใช้งบประมาณในการสร้าง 37,000 บาท หากผลิตใช้งานจริงราคาค่าใช้จ่ายอาจเพียง 15,000 บาทหรือต่ำกว่านั้น

ระยะที่ 3 นำไปให้เกษตรกรทดลองใช้ พร้อมเก็บข้อมูลความพึงพอใจ ผลคือสามารถเก็บผลลำไยได้จำนวนมากภายในระยะเวลาอันสั้น มีความปลอดภัยมากกว่า ที่สำคัญคือแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ส่วนหนึ่ง  

การนำผลงานมาใช้ / รางวัล / การตีพิมพ์
ทดลองใช้ที่โครงการสหกรณ์การเกษตรบ้านโรงวัว จ.เชียงใหม่ และโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำห้วยเฮี้ยงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย

หน่วยงาน
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

ผู้รับผิดชอบ
อาจารย์
ผศ.โกศิน สวนานนท์

เบอร์ติดต่อ
095-2472542

 

Picture of Hello Mountain

Hello Mountain

Mountain Studio Team
ข่าวสารอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ระดับปริญญาตรี