สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ห้องสมุดพร้อมปัญญา” เรือนจำกลางนครปฐม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนครปฐม ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครปฐม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม และผู้อำนวยการสถาบันกักกันนครปฐม เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริหารและผู้มีอุปการคุณสนับสนุนการดำเนินงาน “ห้องสมุดพร้อมปัญญา” พร้อมทอดพระเนตรการแสดงชุดระบำไดโนเสาร์และลำตัด จากนั้นทรงเปิดแพรคลุมป้าย “ห้องสมุดพร้อมปัญญา” ซึ่งเป็นห้องสมุดลำดับที่ 31 พร้อมทอดพระเนตรการดำเนินงาน “ห้องสมุดพร้อมปัญญา” เรือนจำกลางนครปฐม ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในเรือนจำทั่วประเทศ ได้รู้หนังสือ อ่านออก เขียนได้ และรักการอ่าน ทำให้ผู้ต้องขังเกิดความคิดและปัญญาที่ดี นอกจากเป็นการพัฒนาคนที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมแล้ว ยังมีมูลน่าเชื่อว่าผู้มีการศึกษาสูงจะช่วยลดการกระทำความผิดลงได้ และไม่กระทำผิดซ้ำ โดยมีสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน
สำหรับห้องสมุดแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบห้องสมุดเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Library เป็นการออกแบบแนวคิดห้องสมุดเชิงสร้างสรรค์ โดยผู้ต้องขังร่วมกันพัฒนา และออกแบบห้องสมุด ตั้งแต่วัสดุอุปกรณ์ของห้องสมุด เช่น ชั้นหนังสือ ที่แสดงหนังสือ โต๊ะ เก้าอี้ โดยการฉลุลาย การเชื่อมเหล็ก และการวาดภาพผ่านลายเส้น ภายในห้องสมุดประกอบด้วยมุมความรู้ต่าง ๆ เช่น มุมซ่อมหนังสือด้วยการเย็บกี่, มุม มสธ., มุมหนังสือทั่วไป, มุมหนังสือพระราชนิพนธ์, มุมเฉลิมพระเกียรติ และห้องอ่านหนังสือเสียง ซึ่งพบว่านิตยสารและวารสาร National Geographic และ The Secret มียอดการยืมสูงสุด โอกาสนี้ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ถวายของที่ระลึก แล้วพระราชทานถุงพระราชทานแก่ผู้แทนผู้ต้องขังชาย-หญิง จากนั้นทอดพระเนตรกิจกรรมและนิทรรศการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายของเรือนจำกลางนครปฐม มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนภารกิจ ด้านการพัฒนาพฤตินิสัย การฝึกทักษะอาชีพที่มีความหลากหลาย โดยผศ.ดร.สันทนีย์ ผาสุข รองอธิการบดี พร้อมด้วย ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นำคณะครู และบุคลากรสถาบัน ฯ รับเสด็จพระราชดำเนิน ฯ ในส่วนการบริการวิชาการวิชาชีพ โดยฝึกอบรมวิชาชีพให้กับผู้ต้องขัง เรือนจำกลางจังหวัดนครปฐม ในหัวข้อ “การทำคุกกี้ หลากหลายชนิดประเภทต่าง ๆ ให้สร้างเสริมมูลค่าเพิ่ม” นำโดย นายภาณุพงศ์ สวัสดิ์ทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสาขาอาหารและโภชนาการ เป็นวิทยากรการฝึกอบรมสูตรเบเกอรี ให้กับผู้ต้องขังเรือนจำกลางนครปฐม และ ฟูดสไตลิสต์ สุทธิพงษ์ สุริยะ หรืออาจารย์ขาบ จากพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยเชฟแบรด ที่มาช่วยสอนการสาธิตการทำเบเกอรี และอาหารนานาชาติ ประกอบด้วยการสอนทำคุกกี้ การทำเบเกอรีและการออกแบบอาหารต่าง ๆ ให้ดูทันสมัย และผลงานการฝึกอาชีพเปเปอร์มาเช ด้วยการนำกระดาษเหลือใช้มาปั้นเป็นตุ๊กตารูปสัตว์ต่าง ๆ และเช่น การสาธิตการออกแบบลายผ้า การตัดเย็บ และการทอผ้าแบบครบวงจร การสาธิตการทำอาหารไทย และกระทงจากผ้าประดิษฐ์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เข้ามาช่วยสอนการออกแบบลวดลายกระทง เช่น ลายรังแตน และลายเล็บมือนาง
นอกจากนี้ มีผลงานการเรียนรู้การฝึกวิชาชีพช่างเชื่อม จากวิทยาลัยสารพัดช่างนครปฐม การสาธิตการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ มีผู้ต้องขังเข้าอบรม 496 คน, นิทรรศการฝึกวิชาชีพช่างไม้และการแกะสลัก, นิทรรศการฝึกอาชีพศิลปะบำบัดด้วยการวาดภาพ, ผลงานการฝึกอาชีพ การถักเชือกมาคราเม ซึ่งเป็นการถักจากเชือกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กระเป๋า ตุ๊กตา ผ้าคลุมโต๊ะ การถักโครเชต์ตุ๊กตา ซึ่งผู้ต้องขังมีพื้นฐานการถักโครเชต์มาก่อน จากนั้นมาแกะแบบแล้วถักเป็นตุ๊กตารูปต่าง ๆ ตามจินตนาการ ผลงานจากการฝึกวิชาชีพด้านการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามและการประดิษฐ์หินเทียมจากเศษวัสดุเหลือใช้ นิทรรศการฝึกวิชาชีพศิลปะบำบัดด้วยการปั้นพระ การออกแบบทรงผมชายและหญิง สำหรับผลงานของผู้ต้องขังจะนำไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ต้องขัง นำไปใช้เป็นทุนสะสมหลังพ้นโทษ ซึ่งผู้ต้องขังมีโอกาสเรียนรู้วิชาชีพผ่านระบบออนไลน์ เมื่อเรียนจบสามารถรับวุฒิบัตรวิชาชีพ จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ เรือนจำกลางนครปฐม มีอำนาจการควบคุมผู้ต้องขังที่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึงตลอดชีวิต ปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ในความควบคุม จำนวน 4,015 คน แบ่งออกเป็นผู้ต้องขังชาย จำนวน 3,610 คน และผู้ต้องขังหญิง จำนวน 405 คน เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 เวลา 13.29 น. ณ เรือนจำกลางนครปฐม ตำบลวังตะกู อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
ขอขอบคุณสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม – ภาพ/ข่าว
ชาติภักดิ์/ข่าว