
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้โรงเรียนจิตรลดาขยายการศึกษาเพิ่มขึ้นในสายวิชาชีพ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปิดโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๗ โดยในช่วงแรกมี ๓ สาขาวิชา คือ ประเภทพาณิชยกรรม ๒ สาขา ได้แก่ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก และประเภทวิชาอุตสาหกรรม ๑ สาขา คือสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ โดยสถานที่เรียนอยู่ที่อาคาร ๖๐๔ และอาคาร ๖๐๕ ในบริเวณสนามเสือป่า พระราชวังดุสิต ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เมื่อนักเรียนสายวิชาชีพรุ่นแรกจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขยายการศึกษาทางวิชาชีพให้สูงขึ้นเป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) เพิ่มสาขาวิชาประเภทอุตสาหกรรมอีก ๒ สาขาวิชา คือ สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง และสาขาวิชาเครื่องกล ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ มีพระราชดำริเพิ่มสาขาวิชาประเภทคหกรรมอีก ๑ สาขา คือ สาขาอาหารและโภชนาการ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในปีการศึกษา ๒๕๕๔ มีพระราชดำริเพิ่มสาขาวิชาประเภทอุตสาหกรรมอีก ๑ สาขา คือ สาขาวิชายานยนต์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในปีการศึกษา ๒๕๖๑ มีพระราชดำริเพิ่มสาขาวิชาประเภทอุตสาหกรรมอีก ๒ สาขา คือ สาขาวิชาการสร้างเครื่องดนตรีไทย สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และในปีการศึกษา ๒๕๖๒ มีพระราชดำริเพิ่มสาขาวิชาประเภทวิชาเกษตรกรรมอีก ๑ สาขา คือ สาขาวิชาเกษตรนวัต ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระบบทวิศึกษาร่วมกับโรงเรียนวังจันทร์วิทยา จังหวัดระยอง
นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมให้ระบบการเรียนการสอนสายวิชาชีพ เน้นมีรูปแบบความร่วมมือระหว่างโรงเรียน – สถานประกอบการ – สถาบันทางเทคโนโลยี ด้วยพระบารมีจึงมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี นอกเหนือจากการที่นักเรียน นักศึกษาได้รับความรู้จากสถานศึกษาแล้ว ยังได้รับประสบการณ์จากสถานประกอบการโดยตรง และบางวิชาทางสถาบันทางด้านเทคโนโลยีให้โอกาสนักเรียน นักศึกษาไปเรียนรู้และใช้เครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องกลที่ทันสมัยอีกด้วย ทั้งยังมี พระราโชบายเน้นการเรียนภาษาต่างประเทศ โดยพระกรุณา ฯ จ้างครูเจ้าของภาษามาสอนเพื่อให้นักเรียนและนักศึกษา มีความสามารถทางด้านการสื่อสารและการใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง และส่งครูไปอบรมและดูงานต่างประเทศเพื่อนำประสบการณ์มาปรับปรุงระบบการเรียนการสอนทางสายวิชาชีพของไทยให้เป็นสากลอีกด้วย
ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบันในปีการศึกษา ๒๕๖๘ โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ เปิดสอน ๙ สาขา ได้แก่
๑. สาขาวิชาการตลาด
๒. สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
๓. สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์
๔. สาขาวิชาช่างไฟฟ้า
๕. สาขาวิชาช่างกลโรงงาน
๖. สาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้า
๗. สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว
๘. สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ
๙. สาขาวิชาอุตสาหกรรมการสร้างเครื่องดนตรีไทย
ที่อยู่:
โทรศัพท์:
โทรสาร:
อีเมล:
สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
อาคาร ๖๐ พรรษา ราชสุดาสมภพ
สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า
ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
Chitralada Technology Institute
Rajasudasambhava 60, Bureau of the Royal
Household Sanam Sueapa, Sri Ayutthaya Rd., Dusit, Bangkok 10300
โทรศัพท์ 0-2280-0551 ต่อ 3200
โทรศัพท์ 0-2121-3700 ต่อ 1000
โทรสาร 0-2280-0552
ทุกวัน จันทร์-ศุกร์
8.30 น. – 16.30 น.
(ยกเว้น วันหยุดนักขัตฤกษ์)
saraban@cdti.ac.th
3460073