หลักสูตร / สาขา

สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ (ปวส.)

สาขางานเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์

ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ภาคอุตสาหกรรมการผลิต มุ่งเน้นการนำเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหนักหรืออุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนั้นในชีวิตประจำวันได้มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ จึงเป็นสาขาวิชาที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ในยุคสมัยนี้อย่างยิ่ง

 

จุดเด่นของสาขา

เป็นสาขาที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษา การควบคุม และออกแบบติดตั้งระบบเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ซึ่งอุปกรณ์ในสาขาได้รับการสนับสนุนจากสถานประกอบการชั้นนำของประเทศ จึงได้ศึกษาเรียนรู้กับอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย มีมาตรฐาน และยังเป็นการเรียนในระบบทวิภาคีกับบริษัทที่มีมาตรฐานจากต่างประเทศ สามารถทำงานและเรียนไปพร้อมกัน โดยนักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการณ์ เมื่อจบการเรียนมีโอกาสได้ทำงานต่อกับทางสถานประกอบการณ์ และศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

รับนักเรียนที่เรียนจบ ระดับ ปวช. ชั้นปีที่ 3 ทุกสาขาในประเภทวิชาอุตสาหกรรม เกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.75

โครงสร้างหลักสูตร

โครงสร้างหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2563 ประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ จะต้องศึกษารายวิชาจากหมวดวิชาต่างๆ รวมไม่น้อยกว่า 87 หน่วยกิต และเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร ดังโครงสร้างต่อไปนี้

1.1 กลุ่มทักษะภาษาและการสื่อสาร (ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต)
1.2 กลุ่มทักษะการคิดและการแก้ปัญหา (ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต)
1.3 กลุ่มทักษะทางสังคมและการดำรงชีวิต (ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต)

2.1 กลุ่มทักษะวิชาชีพพื้นฐาน ( 19 หน่วยกิต)
2.2 กลุ่มทักษะวิชาชีพเฉพาะ ( 21 หน่วยกิต)
2.3 กลุ่มทักษะวิชาชีพเลือก (ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต)
2.4 ฝึกประสบการณ์ทักษะวิชาชีพ ( 4 หน่วยกิต)
2.5 โครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพ ( 4 หน่วยกิต)

สาขานี้เรียนอะไร

เรียนรู้ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน การคำนวณวงจรไฟฟ้า การวิเคราะห์ไฟฟ้า การเขียนแบบและอ่านแบบในงานอุตสาหกรรม การใช้เครื่องมือวัดทางไฟฟ้า ระบบโปรแกรมเมเบิลลอจิกคอลโทรล ระบบนิวเมตริกและไฮดรอลิกส์ ระบบซีเอ็นซี การควบคุมแขนกลอุตสาหกรรม การซ่อมบำรุง และติดตั้งระบบเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน

จบแล้วมีงานทำ

เมื่อจบการศึกษาสามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการ หรือองค์กรของรัฐในหลายด้าน เช่น

  • ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตกับผู้ประกอบการระดับมาตรฐาน ทำงานเกี่ยวกับ การดูแล ซ่อมบำรุง และติดตั้งระบบเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์
  • งานด้านวิจัยพัฒนา ผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อรองรับความต้องการของโลกในอนาคต
  • สามารถศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นไปได้