หลักสูตร / สาขา

สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปวส.)

สาขางานเทคโนโลยีสารสนเทศ
Information Technology

นักศึกษาสามารถวางแผน ดำเนินการ จัดการ และพัฒนางานอาชีพตามหลักและกระบวนการ โดยคำนึงถึงการบริหารงานคุณภาพ การอนุรักษ์พลังงานสิ่งแวดล้อม และหลักความปลอดภัย สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ เพื่อพัฒนางานอาชีพและสื่อสารทางเทคนิคในงานอาชีพ นอกจากนี้ยังศึกษาและปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการ ควบคุม และพัฒนาคุณภาพงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

อีกทั้งยังศึกษาและปฏิบัติทางด้านการออกแบบระบบงานสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต พัฒนาระบบฐานข้อมูล พัฒนาโปรแกรมเชิงวัตถุ วิเคราะห์ ออกแบบ พัฒนาเว็บไซต์ ออกแบบ ติดตั้ง ฝึกอบรมและบำรุงรักษาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

จุดเด่นของสาขา

สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ มีความมุ่งมั่นจะสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศควบคู่กันไปกับภาคปฏิบัติ ด้วยการเรียนการสอนที่เน้นองค์ประกอบ 2 ด้าน คือ ด้านระบบเครือข่าย (Network) และงานระบบ (System) ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการขององค์กรและผู้ใช้งานในองค์กรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดหลักสูตรการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นการฝึกฝนทักษะสู่การปฏิบัติจริง โดยมีอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะมีความสามารถหลากหลายผ่านโครงการคอมพิวเตอร์ธุรกิจ พร้อมผสานความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาเพื่อประโยชน์ขององค์กร โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการใช้งานทางธุรกิจ เช่น Business Intelligence (BI) ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ การวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) ใช้ในการวางแผนการจัดการธุรกิจขององค์กร

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

ผู้เข้าเรียน ต้องมีพื้นความรู้ สําเร็จการศึกษาระดับปวช. ชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ หรือสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ

สาขานี้เรียนอะไร

ช่วงแรกจะเป็นการเรียนที่ครอบคลุมในทุกแขนงของคอมพิวเตอร์โดยเริ่มจากวิชาพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และสารสนเทศเพื่องานอาชีพ ระบบปฏิบัติการและการใช้โปรแกรมอรรถประโยชน์ คณิตศาสตร์คอมพิวเตอร์ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คอมพิวเตอร์กราฟิกและการสร้างภาพเคลื่อนไหว

เมื่อเรียนอยู่ในระดับที่สูงขึ้นจะเรียนวิชาเฉพาะทางด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น ได้แก่ เครือข่ายและระบบความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ โปรแกรมด้านไมโครซอฟออฟฟิต การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การจัดการฐานข้อมูลเบื้องต้น การพัฒนาเว็บด้วยภาษา HTML การสร้างเกมคอมพิวเตอร์เบื้องต้น

นอกจากนี้ยังมีเรียนวิชาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสริมทักษะทางด้านช่าง ได้แก่ ไมโครคอนโทรลเลอร์เบื้องต้น ดิจิตอลเบื้องต้น งานไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว วงจรพัลส์และดิจิตอล การผลิตสื่อดิจิตอลและระบบอินเตอร์เฟส

จบแล้วมีงานทำ

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา เมื่อเรียนจบสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศแล้วสามารถไปทำงานได้ ดังนี้

  • นักวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • นักวิเคราะห์และออกแบบระบบงานด้านสารสนเทศ
  • นักออกแบบและพัฒนาเว็บ (Web Designer)
  • ผู้บริหารจัดการระบบฐานข้อมูล
  • ผู้ดูแลระบบสารสนเทศ (IT / Network Support)
  • โปรแกรมเมอร์ (Programmer)
  • นักข่าวหรือบรรณาธิการนิตยสารสายไอที
  • คุณครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์