หลักสูตร / สาขา

สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
Bachelor of Engineering Program in Computer Engineering

เป็นหลักสูตรที่สร้างบัณฑิตที่เป็นคนดี มีฝีมือ มีความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ ด้านเทคโนโลยี จัดการศึกษาตามแนวทาง “เรียนคู่งาน งานคู่เรียน” การเรียนรู้เน้นเรื่องการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวและวิศวกรรมข้อมูล สร้างทักษะในการพัฒนาซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นมืออาชีพ การบริหารและการวิเคราะห์ปัญหาทางวิศวกรรม ระบบ IoT และ ระบบ Cloud ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงออกแบบ

จุดเด่นของสาขา

คณะเทคโนโลยีดิจิทัลกำหนดวิสัยทัศน์ว่าภายใน 10 ปี จะเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหน่วยงานที่รวบรวมองค์ความรู้ที่สำคัญ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศที่มีการบริการการศึกษา ดังนี้

1. การบริการการอบรมเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
2. มีนวัตกรรมการศึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบใหม่ ที่ตอบสนองต่อความต้องการการเรียนรู้สมัยใหม่
3. บริการเปิดการเรียนการสอนตามหลักสูตร และการบริการการเรียนรู้ที่โดดเด่นใน 3 ด้าน ได้แก่

  • อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง
  • การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์
  • วิทยาการ/วิศวกรรมข้อมูล

มีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ไม่น้อยกว่า 25 คน มีนักศึกษารวมกันทุกชั้นปี 720 คน เปิดบริการอบรมเพื่อการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตอย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรมที่มีรูปแบบการศึกษาแบบ เรียนคู่งาน-งานคู่เรียน

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ผ่านการเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์รวมกันไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต หรือเทียบเท่า จากสถาบันการศึกษาซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรอง หรือ สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ช่างอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม เทคนิคคอมพิวเตอร์ หรือเทียบเท่า จากสถาบันการศึกษาซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรอง หรือคณะพิจารณาเห็นควรให้เข้าศึกษาได้ มีคุณสมบัติตามข้อบังคับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี

โครงสร้างหลักสูตร

  • กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ 6 หน่วยกิต
  • กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ 6 หน่วยกิต
  • กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 6 หน่วยกิต
  • กลุ่มวิชาภาษา 15 หน่วยกิต
  • กลุ่มวิชาแกน 30 หน่วยกิต
  • กลุ่มวิชาชีพ
    – วิชาชีพบังคับ 43 หน่วยกิต
    – วิชาชีพเลือก 15 หน่วยกิต

สาขานี้เรียนอะไร

หลักสูตรของคณะเทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งอยู่บนฐานความต้องการของผู้ประกอบการ และผู้เรียนในการประกอบวิชาชีพ ความต้องการทั้งสองจะกำหนดโดย “สมรรถนะ” (Competency) สมรรถนะ คือ ความสามารถในการกระทำการใดการหนึ่งที่เป็นเฉพาะให้สัมฤทธิ์ผล สมรรถนะแปลงเป็น “ผลลัพธ์การเรียนรู้” (Learning outcome) ผู้ประกอบการ องค์กรวิชาชีพ และสถาบันการศึกษาเป็นผู้ร่วมกันกำหนดกลุ่มของสมรรถนะที่สำคัญในการทำงานที่ต้องการจัดการศึกษา และกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ประกอบกันตามสมรรถนะหนึ่งๆ การจัดการหลักสูตรมีการจัดการเรียนการสอนในสองลักษณะ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนในรายวิชา และการจัดการเรียนการสอนแบบโมดูล รายวิชาของหลักสูตรจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. ความรู้พื้นฐานจะอยู่ในการศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2
2. ความรู้วิชาชีพจะอยู่ในการศึกษาชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4

จบแล้วมีงานทำ

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มีเป้าหมายที่จะเตรียมความพร้อม สำหรับผู้เข้าศึกษา เพื่อประกอบวิชาชีพวิศวกร และนักวิจัยทางด้านคอมพิวเตอร์ ตามสายงานหลังสำเร็จการศึกษา โดยเน้นแนวคิดทางวิศวกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิภาพที่ได้กับงบประมาณที่ลงทุนไป การใช้งานเครื่องมือต่างๆ และซอฟต์แวร์ที่มีอยู่เพื่อสร้างระบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพ