เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ให้สัมภาษณ์กับทีมงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถึงประเด็นโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) จัดโดยกระทรวง อว. โดยสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาได้เลือกพื้นที่ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬในการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ ผ่านการทำโครงการย่อยในชื่อ โครงการจัดทำแผนที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมชุมชน ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กล่าวว่า การเลือกพื้นที่อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ เกิดจากการที่มีนักศึกษาของสถาบันและบุคคลเครือข่ายคือคุณขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ หนึ่งในผู้อบรมหลักสูตร Mini FBM เป็นคนในพื้นที่รวมถึงจังหวัดบึงกาฬเองเป็นจังหวัดที่เกิดใหม่ ยังไม่ค่อยมีสถาบันการศึกษาเข้าไปศึกษาดูงาน ประกอบกับก่อนหน้าที่จะมีโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย สถาบันฯได้ลงศึกษาพื้นที่และวิจัยอยู่แล้วในการช่วยชาวจังหวัดบังกาฬให้เป็นจังหวัดด้านวัฒนธรรมพื้นถิ่น พอมีโครงการจากกระทรวง อว. เข้ามาสถาบันฯจึงเลือกพื้นที่ดังกล่าวในการดำเนินโครงการ อำเภอโซ่พิสัยเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมที่ดีงาม มีวัฒนธรรมที่ไม่ถูกทำลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์และเผยแพร่ ทั้งวัฒนธรรมทางด้านศิลปะ อาหาร โดยเฉพาะอาหารพื้นถิ่นที่มีความน่าสนใจ วัฒนธรรมด้านจักรสาน ผ้าย้อมคราม เป็นต้น หรือแม้แต่ด้านสิ่งแวดล้อม จังหวัดบึงกาฬก็มีธรรมชาติที่สวยงามและด้านศาสนาก็มีพระอาจารย์เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ซึ่งจากจุดเด่นดังกล่าวทางสถาบันฯจึงอยากให้เกิดปรากฏการณ์การท่องเที่ยวทำอย่างไรให้คนอยากไปเที่ยวที่จังหวัดบังกาฬ ทางคณาจารย์จึงมีแนวคิดในการทำแผนที่ท่องเที่ยวว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรและมีความน่าสนใจอย่างไร จึงเกิดเป็นโครงการจัดทำแผนที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมชุมชน ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ สถาบันฯมองว่าการช่วยเหลือชุมชนเป็นหน้าที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยในการบริการวิชาการแก่ชุมชน และนับว่าเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะลงไปช่วยเหลือชุมชนด้วยกันเป็นครั้งแรก และมหาวิทยาลัยก็มีความตั้งใจที่จะนำทฤษฎี ความรู้ มาผนวกกับภาคปฏิบัติในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทำร่วมกัน แม้ว่าโครงการจะมีระยะเวลาสิ้นสุดเพียงแค่ 1 ปี แต่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาจะยังคงสานต่อโครงการนอกจากจะได้ช่วยเหลือชุมชนแล้วยังได้ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์เศรษกิจที่ตกต่ำลงด้วยเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งนี้จึงอยากจะให้ทุกคนตระหนักว่าชุมชนนั้นมีความสำคัญเป็นฐานรากของประเทศ ถ้าอยากให้ประเทศไทยมีความมั่นคงต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็งไปทั่วประเทศ รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวปิดท้ายว่า บุคลากรทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือนักศึกษาที่ลงพื้นที่ หรือแม้แต่บุคลากรที่อยู่ในท้องที่ ขอให้มีความภาคภูมิใจที่มีส่วนสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ในไม่ช้าก็จะเห็นความสำเร็จ และทุกคนก็จะภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะที่เป็นประชาชนไทยที่สร้างความแข็งแรงให้กับประเทศ