โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ
รู้จักโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ

โรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๗ โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ โรงเรียนจิตรลดาขยายการศึกษาเพิ่มขึ้นในสายวิชาชีพ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปิดในช่วงแรก ๓ สาขาวิชา คือ ประเภทพาณิชยกรรม ๒ สาขา ได้แก่ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก และประเภทวิชาอุตสาหกรรม ๑ สาขา คือสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ โดยสถานที่เรียนอยู่ที่อาคาร ๖๐๔ และอาคาร ๖๐๕ ในบริเวณสนามเสือป่า พระราชวังดุสิต ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เมื่อนักเรียนสายวิชาชีพ รุ่นแรกจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขยายการศึกษาทางวิชาชีพให้สูงขึ้นเป็น ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมให้ระบบการเรียนการสอนสายวิชาชีพ เน้นมีรูปแบบความร่วมมือระหว่างโรงเรียน-สถานประกอบการ-สถาบันทางเทคโนโลยี ด้วยพระบารมีจึงมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี นอกเหนือจากการที่นักเรียน / นักศึกษาได้รับความรู้จากสถานศึกษาแล้ว ยังได้รับประสบการณ์จากสถานประกอบการโดยตรง และบางวิชาทางสถาบันทางด้านเทคโนโลยีให้โอกาส นักเรียน / นักศึกษาจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ไปเรียนรู้และใช้เครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องกลที่ทันสมัยอีกด้วย ทั้งยังมี พระราโชบายเน้นการเรียนภาษาต่างประเทศโดยพระกรุณา ฯ จ้างครูเจ้าของภาษามาสอนเพื่อให้นักเรียนและนักศึกษา มีความสามารถทางด้านการสื่อสารและการใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง และส่งครูไปอบรมและดูงานต่างประเทศ เพื่อนำประสบการณ์มาปรับปรุงระบบการเรียนการสอนทางสายวิชาชีพของไทยให้เป็นสากลอีกด้วย
ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ มีพระราชดำริ เพิ่มสาขาวิชาประเภทอุตสาหกรรมอีก ๒ สาขาวิชา คือ สาขาวิชาไฟฟ้ากำลังและสาขาวิชาเครื่องกล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคารเรียนใหม่คือ อาคาร ๖๑๑ และ ๖๑๒ เพื่อขยายสาขาการเรียนทางสายวิชาชีพให้หลากหลายและเป็นไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ และเพื่อให้พระราโชบายครอบคลุมความเป็นไปของโลกาภิวัฒน์ อาคารทั้งสองหลังนี้จึงเป็นอาคาร Green & Clean Zone โดยวัตถุประสงค์หลายประการ ประการแรก เป็นการสร้างระบบอาคารที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโลก นอกจากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากรประหยัดพลังงานแล้ว ยังสามารถนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ใหม่ ทำให้อาคารนี้มีระบบที่ต้องดูแลถึง ๑๓ ระบบ ประการที่สอง คือ นอกจากใช้เป็นอาคารเรียนแล้วนักเรียนยังสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาที่เดินอยู่ในอาคารทั้งสองนี้ (Learning by Observing) ทั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์ผู้เรียนให้ใฝ่รู้ ช่างสังเกต สร้างความเข้าใจในการรู้จักดูแลรักษาสถาบันของตนที่สุด จะเกิดแนวคิดพัฒนาค้นคว้าและใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า อาคารทั้งสองหลังนี้สำเร็จลงได้เพราะความร่วมมือร่วมใจของบุคคลที่สนับสนุน กับโรงเรียนจิตรลดาและนักเรียนเก่าที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้แก่ สถาปนิก ทีมวิศวกร ทีมก่อสร้างและทีมตกแต่งภายในให้อาคารสมบูรณ์ทุกประการ
ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ มีพระราชดำริ เพิ่มสาขาวิชาประเภทคหกรรมอีก ๑ สาขา คือ สาขาอาหารและโภชนาการ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพื่อตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ และมีทักษะด้านอาหารและโภชนาการ การประกอบอาหารไทย ขนมไทย ขนมอบสูตรไทยและนานาชาติได้ ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพอิสระ และศึกษาต่อในระดับสูงต่อไปได้
ในปีการศึกษา ๒๕๕๔ มีพระราชดำริเพิ่มสาขาวิชาประเภทอุตสาหกรรมอีก ๑ สาขา คือ สาขาวิชายานยนต์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพื่อตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ และมีทักษะด้านงานยานยนต์ การอ่านแบบเขียนแบบยานยนต์ การบริการตรวจซ่อมเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลังรถยนต์ เครื่องล่างรถยนต์ และไฟฟ้ารถยนต์ เชื้อเพลิงและ วัสดุหล่อลื่น ระบบนิวเมติกส์ไฮดรอลิกส์เบื้องต้นได้ ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพอิสระ และศึกษาต่อในระดับสูงต่อไปได้
ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ เปิดสอน ๑๐ สาขา ได้แก่
๑.สาขาวิชาการตลาด ๒.สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ๓.สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ ๔.สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง |
๕.สาขาวิชาช่างกลโรงงาน ๖.สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ๗.สาขาวิชาช่างยนต์ ๘.สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว |
๙.สาขาวิชาการสร้างเครื่องดนตรีไทย ๑๐.สาขาวิชาเกษตรนวัต (ทวิศึกษา)
|
และในปีการศึกษา ๒๕๖๑ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ (๑๑/๑๑) สำหรับชาวจิตรลดานับเป็นวันที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะ เป็นวันที่พระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา (ที่ได้รับการประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑) มีผลบังคับใช้เป็นวันที่วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาและโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) เข้ารวมตัวกันอย่างเป็นทางการ กลายเป็นสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ที่จัดการเรียนการสอนทางด้านวิชาชีพทั้ง ระดับ ปวช. ปวส. และระดับปริญญาตรี โดยสถาบันจะเปลี่ยนสถานะจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมาเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษาจากรัฐ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ การจัดการศึกษาด้านวิชาชีพ ทั้งสามระดับของสถาบัน มีความต่อเนื่องสอดคล้องกัน เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา และการบริหารจัดการ โดยนโยบายและแนวทางการจัดการเรียนการสอนยังคงเป็นไปตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงมุ่งมั่นส่งเสริมพัฒนาการศึกษาวิชาชีพ เพื่อสร้างบัณฑิตที่เป็นคนดี มีทักษะ ใฝ่รู้ สู้งานหนักและพร้อมทำงาน ในสาขาที่เป็นความต้องการหรือเป็นความจำเป็นของประเทศ...